top of page
ค้นหา
  • Admin

“มาตรฐานไอเอสโอ” ช่วยจัดการวิกฤตโลกร้อน

การทำงานด้านการมาตรฐานของไอเอสโอเป็นงานที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้เกิดการจัดการกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งช่วยให้มีการกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง และเร่งดำเนินการได้อย่างชัดเจน  นอกจาก “มาตรฐาน” จะมีส่วนสำคัญต่อการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังเป็นหนทางที่จะนำโลกของเราก้าวไปสู่ความยั่งยืนอีกด้วย

ซาเกียห์ คาสซัม ประธานคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO/TC 207  (และสมาชิกของไอเอสโอในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศแคนาดา คือ SCC) ประธานของ AirVironment Canada และเป็นผู้ร่วมงานอาวุโสของ Boxfish Infrastructure Group Zakiah ซึ่งมีประสบการณ์วิชาชีพมากกว่า 20 ปีในด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อม

ซาเกียห์ คาสซัม เน้นว่า “มาตรฐาน” เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและทำให้เรามั่นใจว่าการแก้ไขปัญหาจะเป็นไปได้จริง และช่วยลดกรีนวอชชิ่งหรือการฟอกเขียวที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้

“มาตรฐาน” ยังทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วด้วย ถึงแม้ว่าการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการตามนโยบายเพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่มาตรฐานไอเอสโอช่วยให้โลกของเราไปถึงจุดนั้นได้เร็วขึ้น โดยลดเวลาที่ใช้ในการออกแบบ และดำเนินการตามนโยบายของรัฐ

ในการประชุม COP28 ถือเป็นจุดสำคัญที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องมาดำเนินการในฐานะแนวร่วมที่เป็นเอกภาพ และดำเนินการร่วมกันใน 3 ประเด็นหลัก คือ การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การวางแผนความเสี่ยง และการจัดหาเงินทุน ซึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินการทั้ง 3 ประเด็นนี้ “มาตรฐาน”เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในดำเนินการร่วมกัน

ในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือองค์กรต้องรายงานอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมีมาตรฐานต่างๆ เป็นแนวทางในการพัฒนารายการก๊าซเรือนกระจกซึ่งแสดงรายการปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างครอบคลุมและแหล่งที่มา

ในการวางแผนความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความแตกต่างจากความเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งวิธีการทั่วไปที่ใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติอาจไม่ได้ผล และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอาจมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ แต่มาตรฐานไอเอสโอสามารถให้รายละเอียดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการดำเนินการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี

รัฐบาลท้องถิ่นและชุมชนที่เผชิญกับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีแผนการปรับตัว แต่อาจไม่มีทรัพยากรที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้เสมอไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและชุมชนสามารถนำมาตรฐานไอเอสโอไปใช้วางแผนนโยบาย และจัดทำแผนงาน  การเป็นพันธมิตรกับหน่วยธุรกิจที่เหมาะสมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ช่วยรับมือกับความเสี่ยงที่สำคัญและกำหนดลำดับความสำคัญของการทำงานได้เช่นกัน ทั้งนี้ ความเสี่ยงไม่ใช่อุปสรรคเพียงอย่างเดียว การขาดทรัพยากรก็ถือเป็นความท้าทายเช่นกัน และการจัดหาเงินทุนถือเป็นอุปสรรคสำคัญซึ่ง “มาตรฐาน” ช่วยในเรื่องนี้ได้

เพื่อให้โลกของเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  จำเป็นต้องลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากกว่า 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 (ค.ศ.2030)  จึงมีความคาดหวังว่ารัฐบาลทั่วโลกจะสามารถจัดหาเงินทุนประมาณ 30% ของเงินทุนดังกล่าวจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ เงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำ เงินช่วยเหลือ และการจัดหาเงินทุนราคาต่ำ

เพื่อสนับสนุนให้มีโครงสร้างพร้อมใช้งานที่ช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดเกณฑ์สำหรับโครงการพลังงานสีเขียว และสร้างตัวชี้วัดประสิทธิภาพของโครงการได้ ไอเอสโอจึงได้พัฒนาชุดมาตรฐาน ISO 14030 การประเมินประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาซึ่งมีการระบุข้อกำหนดเพื่อให้มั่นใจในความสมบูรณ์ของพันธบัตรและสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อพูดถึงความซับซ้อนของทุนสนับสนุนเพื่อสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ ไอเอสโอยังมีมาตรฐานแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่สามารถช่วยรัฐบาลออกแบบกลไกทุนสนับสนุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วย เช่น ISO 14093 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนเพื่อความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศตามประสิทธิภาพซึ่งอยู่บนพื้นฐานของกลไกการดำรงชีวิตแบบปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่น (LoCAL) ของกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

มาตรฐาน ISO  14093 ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการออกแบบระบบระดับประเทศสำหรับการจัดหาเงินทุนเพื่อการปรับตัวในท้องถิ่น และรวมถึงเงื่อนไขขั้นต่ำเพื่อให้มั่นใจว่ามีการคุ้มครองทางการเงิน และเมนูการลงทุนด้านการปรับตัวที่เข้าเกณฑ์ซึ่งสามารถส่งเสริมความยืดหยุ่นของสภาพภูมิอากาศได้

ถึงที่สุดแล้ว ผู้ที่มีอิทธิพลต่อตลาดการลงทุนอย่างมากก็คือหน่วยงานที่ดำเนินงานเพื่อสาธาณชนนั่นเอง เนื่องจากมีงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ การควบคุมในลักษณะนี้จึงมีสามารถรวมเอาแนวทางการดำเนินงานของอุตสาหกรรมเข้าไปในข้อกำหนดตามสัญญาที่กำหนดขึ้นตามมาตรฐานไอเอสโอ และระบบการประเมินความสอดคล้องของไอเอสโอได้

การบูรณาการมาตรฐานไอเอสโอเข้าไปในมุมมองระดับนโยบายจะช่วยให้การกำหนดกฎเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับการซื้อสินค้าและบริการสามารถทำได้ในลักษณะที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายที่ต้องการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วจึงต้องเริ่มต้นด้วยการคำนึงถึง ”มาตรฐาน” และไม่ว่าท่านจะอยู่ในองค์กรใด ก็สามารถนำมาตรฐานไปใช้เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้



สนใจติดต่อทำระบบ

Line ID : @753aalrt

​Tell : 096-686-9679


ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page